21 กุมภาพันธ์ 2552

คอขาวหรือหางแดง

“ปลาผีเสื้อ” จัดได้ว่าเป็นพวกญาติเยอะ เป็นพวกนามสกุลใหญ่ตระกูลหนึ่ง เฉพาะที่พบในท้องทะเลไทยก็ไม่ต่ำกว่า 30 ชนิดแล้ว พบในอ่าวไทย 14 ชนิด ในอันดามันอีกอย่างน้อย 22 ชนิด และบางชนิดก็พบทั้งสองฝากฝั่งแหลมทอง

สมชื่อ “ผีเสื้อ” ด้วยลวดลายสีสันสะดุดตา ชอบกินสัตว์ตัวนุ่มทั้งที่ลอยน้ำหรืออยู่ตามดิน บางครั้งก็ตอดกินแมงกะพรุนและดอกไม้ทะเลด้วย เป็นพวกหากินกลางวันเป็นฝูงสองสามตัวจนถึงหลายสิบตัว


ปลาผีเสื้อคอขาว : Red-tailed Butterfly Fish : Chaetodon collare : หมู่เกาะสิมิลัน

คู่นี้ไม่ค่อยชอบอยู่ในฝูงใหญ่ มักจะพบเป็นคู่ ๆ เสมอ และพบในท้องทะเลอันดามันเท่านั้น ไม่ได้ขยายอาณาเขตมาสร้างครอบครัวในฝั่งอ่าวไทย ชอบลอยตัวโชว์นิ่ง ๆ ให้ถ่ายภาพได้อย่างง่ายดาย ลำตัวแบนเกือบกลม ปากเล็ก จะงอยปากยื่นออกไปเล็กน้อย ครีบหลังโค้งมน ครีบหางปลายตัดเป็นรูปโค้งเพียงเล็กน้อย ขนาดความยาวประมาณ 12 นิ้ว พื้นผิวลำตัวสีน้ำตาลอมเหลืองหรืออมเขียว ตรงกลางเกล็ดมีสีเหลือง บริเวณหัวมีแถบสีดำคาดตามขวาง 3 แถบ แถบแรกผ่านจะงอยปาก แถบที่สองผ่านด้านหน้าตา และแถบสุดท้ายเริ่มจากครีบหลังผ่านด้านหลังตาลงมายังคอ หลังจากแถบที่สามเป็นแถบคาดตามขวางสีขาว

ครีบหลังและครีบทวารมีสีม่วงแดงอมน้ำตาล ครีบหูสีขาวเหลือง ครีบท้องสีดำ ฐานครีบหางมีสีเลือดหมู ตรงกลางครีบดำและปลายครีบขาว

อาจจะเพราะมีแถวสีขาวคาดผ่านบริเวณหัวนี่เอง จึงได้ชื่อว่า “ปลาผีเสื้อคอขาว” และมีฐานครีบหางสีเลือดหมู จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “ปลาผีเสื้อหางแดง” – “Red-tailed Butterfly Fish”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น