23 กุมภาพันธ์ 2551

Blenny การรอคอยที่คุ้มค่า

ฉันกับบัดดี้เกาะนิ่งอยู่บนยอดสูงสุดของกองหินใหญ่ สงบ ไม่มีการขยับ แม้แต่ปลายฟิน(ตีนกบ) ได้ยินเพียงเสียงฟองอากาศจากการหายใจของเราทั้งสองเป็นจังหวะเบา และยาว สายตาแน่วแน่ไปบนยอดกองหินซึ่งปกคลุมไปด้วยสาหร่ายต้นสั้น ๆ เขียวขจีเหมือนสนามหญ้าชั้นดี นิ้วชี้ข้างขวาจรดอยู่กับชัตเตอร์รอจังหวะอันเหมาะเจาะที่จะมาถึงในเสี้ยววินาที

“เจ้าตัวน้อย” ค่อย ๆ โผล่หน้าขึ้นมาจากรูเล็ก ๆ อย่างระมัดระวัง พอเห็นสิ่งแปลกปลอมที่ไม่คุ้นเคยก็ผลุบหายลงไป ก็ฉันและบัดดี้ไงที่เป็นสิ่งแปลกปลอม

ชั่วระยะเวลาการหายใจเข้า-ออกอีกหลายสิบครั้ง “เจ้าตัวน้อย” ก็ค่อย ๆ โผล่ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งเราต้องอาศัยความไวของนิ้วเพื่อกดชัตเตอร์ และถ้าหากไม่ได้ระยะโฟกัสหรือระยะแสงแฟลชทำให้ต้องขยับมือ ขยับกล้อง เจ้าตัวน้อยก็จะผลุบหายลงไปในรูเล็ก ๆ นั่น และก็ต้องรอคอยกันอีกครั้ง

เป็นเรื่องของการระแวดระวังภัยตามธรรมชาติของสัตว์ และเป็นเรื่องของนักดำน้ำที่ต้องใช้ความอดทนทำตัวให้นิ่งที่สุดเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ “เจ้าตัวน้อย” นั่นเกิดความไว้วางใจว่าสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ใกล้ ๆ ที่อาศัยของมันนั้นไม่เป็นอันตรายต่อมัน มันจึงจะโผล่หัวขึ้นมาเพื่อรอรับอาหารซึ่งลอยมากับสายน้ำ

ถ้าเราอดทนและใจเย็นพอ เราก็จะได้เห็น “เจ้าตัวน้อย” ทีน่ารัก มีเขาเล็กจิ๋วบนหัวคล้ายกับขนตางอนยาว โผล่ขึ้นมาทักทายให้ได้ชื่นชม และเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก

เหมือนกับอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิต ถ้าเราอดทนและใจเย็นพอ เราก็จะได้ชื่นชมกับความงดงามอย่างสมบูรณ์


รู้จักกับ “เจ้าตัวน้อย”
ปลาตั๊กแตนหิน (Blennies) เป็นปลาขนาดเล็ก ตัวยาว ไม่มีเกล็ด หัวมน ครีบหลังยาวต่อเนื่องกัน พบเกาะอยู่ตามพื้นแข็ง หลืบซอก หรืออยู่ในรูเล็ก ๆ บนพื้นผิวปะการัง มีการเคลื่อนที่ค่อนข้างไวคล้ายการกระโดดจึงเรียกชื่อว่า “ปลาตั๊กแตนหิน” ขณะที่บางชนิดไม่ได้พบเกราะตามพื้นแต่ว่ายอยู่ในน้ำ มีพฤติกรรมการป้องกันอาณาเขตที่อยู่อาศัย เป็นปลาที่มีความหลากหลายของชนิดสูง

(คู่มือสัตว์และพืชในแนวปะการัง หมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน โครงการอุทยานใต้ทะเล จุฬาภรณ์ 36)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น